หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
หน้ารวม Pic Post Pic Post ของฉัน สุดยอด Pic Post สุดยอดนักโพสท์คลังรูปค้นหา Pic Post Post รูป
ดูรายการโปรด เพิ่มเป็นรายการโปรด

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน

โพสท์โดย
ทุกๆสิ้นปี เราจะได้ยินข่าวการจัดทำ “ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน” (Corruption Perceptions Index :CPI ) โดยองค์กลางระหว่างประเทศที่ชื่อ Transparency International (TI) ซึ่งจะเผยแพร่อันดับการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศทั่วโลก
สำหรับ CPI ประจำปี 2012 ประเทศไทยได้ 3.7 คะแนน อยู่อันดับที่ 88 จากทั้งหมด 174 ประเทศ โดยไทยอยู่อันดับที่ 88 ร่วมกับประเทศซูรินาม แซมเบีย สวาซิแลนด์ มาลาวี และโมรอคโค (ได้ 88 คะแนนเท่ากันหมด) ส่วนประเทศที่มี CPI สูงที่สุดคือฟินแลนด์ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ (ได้เท่ากันที่ 9.0 คะแนน) และประเทศที่ CPI ต่ำที่สุดคือ เกาหลีเหนือ โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน (ได้เท่ากันที่ 0.8 คะแนน)
อ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของ TI [1]
เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวนี้จากสื่อมวลชน เรามักได้ยินข่าวในทำนองว่าประเทศไทยอยู่อันดับไหน และอันดับของเราดีขึ้นหรือเลวลงมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งหากไม่ได้พิจารณาถึง “ที่มา” ของดัชนีชุดนี้ว่าเป็นมาอย่างไร ใช้การจัดเก็บข้อมูลแบบไหน ประมวลผลแบบไหน มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ฯลฯ ก็อาจทำให้เราละเลยข้อจำกัดของดัชนีไป ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเหมารวมได้ง่าย
หากเราเข้าไปอ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจกับกระบวนการจัดทำ (Methodology)CPI จากเว็บไซต์ เราจะทราบว่ามีหลายสิ่งที่ดัชนีนี้สามารถบอกได้ แต่ก็มีหลายสิ่งที่ไม่สามารถบอกได้เช่นกัน
1. CPI บอกระดับ “ภาพลักษณ์” (Perceptions) แต่ไม่บอก “ปริมาณ” คอร์รัปชันเชิงสมบูรณ์
CPI จัดทำขึ้นโดยการส่งแบบสอบถามให้องค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ 10-13 หน่วยงานทั่วโลก (จำนวนหน่วยงานที่ตอบแบบสอบถามอาจไม่เท่ากันในแต่ละปี) โดยสอบถามในทำนองว่า “จากประสบการณ์ทำงานของท่านในประเทศ A ท่านคิดว่าระบบราชการของประเทศ A มีการคอร์รัปชันมากหรือน้อยแค่ไหน” หรือในบางปีก็ใช้การสุ่มสอบถามจากสาธารณชนและอาสาสมัครร่วมด้วย [2]
ดังนั้นจะเห็นว่าCPI วัด “ความรู้สึก” ของหน่วยงานผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่ใช่จำนวนในการคอร์รัปชันจริง สาเหตุที่ต้องวัดเช่นนี้เนื่องจากคอร์รัปชันเป็นกิจกรรมที่ตรวจสอบยาก ที่ตรวจพบก็มักเป็นเพียงส่วนเดียวของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ดังนั้นองค์กร TI จึงวัดระดับการคอร์รัปชันผ่าน “ภาพลักษณ์” ของประเทศ ซึ่งทำโดยการวัด “ความเชื่อมั่น” ของภาคธุรกิจท่ี่มีต่อรัฐและระบบราชการในประเทศนั้นๆแทน
2. CPI ไม่ได้สะท้อนภาพรวมของปัญหาคอร์รัปชันทั้งหมด
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ TI เอง [3] ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าCPI มีขีดจำกัด มันวัดเฉพาะภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของภาครัฐ/ราชการเมื่อมองจากสายตาของแวดวงธุรกิจเท่านั้น มันไม่ได้วัดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ไม่ได้วัดการคอร์รัปชันในแวดวงธุรกิจด้วยกันเอง และไม่ได้วัดการคอร์รัปชันระหว่างภาคราชการกับประชาชนรายบุคคล
ดังนั้น เมื่อคะแนน CPI ของประเทศหนึ่งดีกว่าอีกประเทศหนึ่ง อาจไม่ได้หมายความว่าปัญหาคอร์รัปชัน “โดยรวม” ในประเทศนั้นจะเบาบางดีกว่า เพราะหากนับรวมการคอร์รัปชันแบบอื่นๆเข้าด้วยแล้ว ปัญหาอาจจะดีหรือเลวร้ายกว่าที่เห็นจากคะแนนดัชนีก็เป็นได้
3. CPI ไม่สามารถใช้เทียบ “คะแนน”ระหว่างปีได้
องค์กรผู้ตอบแบบสอบถามนั้นเปลี่ยนไปในแต่ละปี จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามก็เปลี่ยนไปทุกปี คำถามที่ถามก็เปลี่ยนไปทุกปี ระบบการให้คะแนนก็เปลี่ยนไปทุกปี ดังนั้นคะแนนที่ได้ในแต่ละปีจึงไม่สามารถนำมาใช้วัดได้ว่าปีนี้ประเทศ A ทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลงจากเมื่อปีก่อน [4]
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถพูดขยายผลเปรียบเทียบไปในอดีตได้ว่าประเทศไทยในสมัยรัฐบาลชุดหนึ่ง มีค่า CPI ดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน เพราะข้อมูลที่ใช้นั้นเป็นคนละชุดโดยสิ้นเชิง
4. CPI ไม่สามารถเทียบ "อันดับ" ระหว่างปีได้
การเทียบ “อันดับ” ย้อนหลังกับปีก่อนๆยิ่งไม่สามารถทำได้ เพราะนอกจากคะแนนจะมาจากข้อมูลคนละชุดแล้ว จำนวนประเทศที่จัดอันดับในแต่ละปีก็อาจมีจำนวนไม่เท่ากัน เรามักได้ยินรายงานข่าวทำนองว่าปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 88 แต่เรามักไม่ค่อยได้ยินข่าวว่าในปีนั้นๆ TI จัดอันดับไว้ทั้งหมดกี่ประเทศ
ส่งท้าย
กล่าวโดยสรุป CPI สามารถสะท้อนภาพ “ระบบราชการ” ในประเทศหนึ่งว่ามี “ภาพลักษณ์” โปร่งใสมากน้อยแค่ไหนในสายตาภาคธุรกิจ ภาพลักษณ์ที่ว่านี้คิดจากประสบการณ์ที่นักธุรกิจต่างๆพบเจอมา สะท้อน “ความเชื่อมั่น”ของผู้ตอบแบบสอบถามต่อความโปร่งใสในประเทศนั้นๆ
สิ่งที่ CPI ไม่สามารถบอกได้คือเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน ระดับการคอร์รัปชันในแวดวงอื่นๆนอกเหนือจากภาครัฐว่ามีมากน้อยแค่ไหน และ CPI ไม่สามารถใช้เปรียบเทียบย้อนหลังไปในอดีตได้
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป TI ได้เปลี่ยนวิธีการจัดทำ CPI เสียใหม่เพื่อให้สามารถเทียบตัวเลขระหว่างปีได้แล้ว ดังนั้นเราสามารถใช้ตัวเลขปี 2013 เทียบกับตัวเลขปี 2012 ได้ แต่เราใช้ย้อนไปไกลกว่านั้นไม่ได้
การทำความเข้าใจความหมาย ที่มาที่ไป และข้อจำกัดต่างๆของตัวเลขทางสถิติ เป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดก่อนที่เราจะ “สรุป” ความเข้าใจต่อข้อเท็จจริงในภาพใหญ่ที่ตัวเลขสถิตินั้นสะท้อนออกมา
แชร์บน Facebook แชร์
มีผู้เข้าชมแล้ว 2,808 ครั้ง
โพสท์โดย: ไอ้คิ้วสวย , 10Y
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ "VOTE" และ "SHARE"
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน
30 VOTES (5/5 จาก 6 คน)
 
หากคุณเป็นเจ้าของนิตยสาร/โมเดลลิ่ง เอเจนซี่ ต้องการโปรโมท สามารถส่ง e-mail แจ้งทีมงานให้ตั้งค่า username ของคุณเป็น Official User ได้ที่ info@postjung.com โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม
Comment ด้วย facebook