มช. ส่งกระทงใหญ่ “นพบุรี ศรีสัตตบริภัณฑ์” ร่วมสืบสานประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่
โพสท์โดย NumberNineมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่งกระทงใหญ่พร้อมริ้วขบวนวิจิตรตระการตา “นพบุรี ศรีสัตตบริภัณฑ์” เข้าร่วมขบวนแห่ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อยู่ในลำดับขบวนที่ 7จากทั้งหมด 22 ขบวน โดยมีผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาเข้าร่วมขบวน เพื่อเป็นการส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย
สำหรับขบวนแห่กระทรงใหญ่จะเริ่มตั้งขบวนบริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เคลื่อนขบวนตามถนนท่าแพผ่านพุทธสถาน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนไปรษณีย์ ผ่านโรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ และสิ้นสุดขบวนที่ด้านหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่
แนวความคิดการออกแบบรถกระทงใหญ่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2558
“นพบุรี ศรีสัตตบริภัณฑ์”
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ นครอันเป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม ดินแดนแห่งความเป็นเอกลักษณ์ที่รายล้อมไปด้วยขุนเขาต่างๆ โดยมีดอยสุเทพเป็นศูนย์รวมใจของชาวเชียงใหม่ การวางผังวัดและวางผังเมืองเชียงใหม่ในอดีตนั้นล้วนมีความสอดคล้องกับแนวความคิดคติจักรวาลในปรัชญาทางพระพุทธศาสนา
รถกระทงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2558 “นพบุรี ศรีสัตตบริภัณฑ์” สรรค์สร้างขึ้นบนพื้นฐานแนวความคิดคติจักรวาลในปรัชญาทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่แพร่หลายในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในดินแดนล้านนา โดยถ่ายทอดการจัดวางในรูปแบบของเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ด ซึ่งมีเขาพระสุเมรุราชมหาคิรีสถิตเป็นแกนกลางของจักรวาล เหนือยอดเขาพระสุเมรุขึ้นไปนั้นเป็นที่ตั้งของสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ รวมไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเขาสัตตบริภัณฑ์นั้นแวดล้อมไปด้วยมหานทีสีทันดรเป็นปริมณฑลในวงกว้าง มีเหล่าสัตว์ชลชาติน้อยใหญ่ ทั้งนาคา นาคี แลกุญชรวารี แหวกว่ายในห้วงกระแสทิพย์ธารานั้น โดยทิศทั้งสี่ของเชิงเขาสัตตบริภัณฑ์ประดับตกแต่งด้วยโคมประทีปสว่างไสวเป็นสัญลักษณ์แทนจตุรทวีปอันเป็นที่อาศัยของเหล่ามนุษย์ และบริเวณเหลี่ยมเขาสัตตบริภัณฑ์เป็นที่สถิตแห่งพญานาคราชทั้งสี่ที่คอยปกปักรักษาเหลี่ยมเขานั้นไว้ตราบจนสิ้นกัปป์
เมื่อถึงวาระดิถีอันเป็นมงคลในคืนวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ พระสุริยาอาทิตย์เจ้าซึ่งมีนกยูงเป็นสัญลักษณ์ เสด็จโครจรเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ จวบจนยามทิวาสลับเป็นพระจันทราเจ้าซึ่งมีกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ ในยามรา...ั้นดวงศศิธรแผ่รัศมีอันโอภาสไปทั่วสากลจักรวาลเป็นที่สถิตสำราญ แก่เหล่าเทวา เทวีทั้งหลาย ที่จะถึงกาลเสด็จไปบนนภากาศเหนือยอดเขาพระสุเมรุด้วยพญาสกุณชาติการเวก เพื่อน้อมนำเครื่องสักการะไปไหว้สายังพระธาตุเจ้าจุฬามณี อันสถิตวิลาศอยู่บนชั้นฟ้าดาวดึงสาเทวโลก นั้นแล.....