สระบุรี ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาหนึ่งเดียวในโลก
โพสท์โดยงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นอำเภอพระพุทธบาท ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม นับเป็นประเพณีอันเก่าแก่ที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์ยิ่ง เป็น“ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก" เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาของทุกปี พี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาทและพื้นที่ใกล้เคียง จะนำดอกเข้าพรรษามาบูชาสักการะรอยพระพุทธบาท ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา และถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ของจังหวัดสระบุรี
โดยในปีนี้ได้กำหนดจัดพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในอาณาบริเวณพระพุทธบาท ในวันพุธที่ 25 กรกฎาคม 2561 และจัดพิธีเปิดงานในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561 ประกอบด้วยกิจกรรมและการแสดงที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น การแสดงศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรม และขบวนต่างๆ โดยจะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ไปตามถนนพหลโยธิน และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น จะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา” เท่านั้น
“ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” (Globba winiti) เป็นไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อน มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีรากสะสมอาหารคล้ายกระชาย ลำต้นที่อยู่เหนือดินเป็นกลุ่มกอ สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวลักษณะเรียวยาว รูปใบหอกออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ดอกออกเป็นช่อโค้ง และห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอกมีสีเหลืองสดใส แต่จะมีกลีบประดับ (bract) คล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น ขาว ม่วง เขียว และแดง ซึ่งหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น และเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดสระบุรีได้ร่วมอนุรักษ์โดยการจัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ที่ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตรแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์