THAI ANCIENT GUY IN LAVO KINGDOM, THAILAND
โพสท์โดย อ้ายเติ่งThai male in the traditional costume of Ancient Lavapura or Lavo style 9th-century is an ancient Thai kingdom,
ชายหนุ่มในเครื่องแต่งกายโบราณ อาณาจักรละโว้ หรือ "ลวปุระ" อารยธรรมขอมในดินแดนไทย
“ลวปุระ …. ดินแดนโบราณ ถิ่นอารยะธรรมขอมแห่งสยาม”
เมื่อเอ่ยถึง “เมืองลวปุระ” คงมีหลาย ๆ ท่านกำลังทำหน้าสงสัยว่าคือที่ไหน แต่ถ้ากล่าวถึง “เมืองละโว้” ก็คงจะร้องอ๋อ ว่าหมายถึงเมืองลพบุรีของเรานี่เอง
ลพบุรี (เดิมเคยรู้จักกันในชื่อละโว้หรือ ลวะปุระ) เป็นเมืองเก่าแก่โบราณที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการขุดพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่หลายแห่งของลพบุรี ทั้งในสมัยหินกลางและยุคโลหะ
อ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ อาณาจักรละโว้ได้ถูกสถาปนาขึ้นในยุคทวารวดี ก่อตั้งโดยพระยากาฬวรรณดิศบุตรของพระยากากพัตร ในปีพระพุทธศักราช 1,002 พระยากาฬวรรณดิศราชได้เสวยราชสมบัติ และจึงให้พราหมณ์ทั้งหลายยกพลไปสร้างเมืองละโว้หรือเมืองลพบุรีขึ้น เมืองลพบุรีในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก มีการพบหลักฐานเก่าแก่มากมายที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 -13 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าในยุคนั้นเมืองลพบุรีมีความมั่งคั่งทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ตัวอย่างของหลักฐานที่ว่า ได้แก่เสาแปดเหลี่ยมที่ถูกพบที่เมืองซับจำปามีจารึกคาถาบาลีต่างๆ เช่น คาถาเยธัมมา อาจจะกล่าวได้ว่าในยุคนั้นเมืองลพบุรีเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเลยก็ว่าได้
ต่อมาในระยะราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 ละโว้หรือลพบุรีก็ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเขมรเป็นครั้งคราว และในยุคนี้ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เข้ามาเป็นที่นิยมและเจริญรุ่งเรืองมาก จึงทำให้ศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเขมร และเป็นศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูผสานกับพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ศิลปกรรมที่ถูกสร้างขึ้นก็จะมีรูปแบบที่คล้ายกับศิลปะของชนชาติขอม หรือที่เรียกว่า “ศิลปะลวปุระหรือศิลปะลพบุรี” หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีลักษณะที่ถูกสร้างขึ้นตามพุทธศาสนาลัทธิมหายานและศาสนาฮินดู ได้แก่ ปรางค์แขก พระปรางค์สามยอด พระพุทธรูปนาคปรก เป็นต้น ซึ่งลักษณะของศิลปกรรมดังกล่าวก็แตกต่างไปจากยุคทวารวดีอย่างเห็นได้ชัด
พอเข้าปลายพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรเขมรได้เกิดความอ่อนแอจนทำให้รัฐต่าง ๆ รวมถึงละโว้ที่เคยอยู่ใต้อำนาจ ปลีกตัวออกเป็นอิสระ และต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนทำให้ศูนย์กลางความเจริญได้ถูกย้ายมาที่ “อโยธยา” แต่ความรุ่งเรืองของเมืองลพบุรีก็ยังไม่หมดไปในยุคนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สถาปนาลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีที่สองของกรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาพอสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลพบุรีก็ขาดความสำคัญลงมาก จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้โปรดสถาปนาเมืองลพบุรีให้เป็นที่ประทับของพระองค์อีกแห่งหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าเมืองลพบุรีมีประวัติศาสตร์และความสำคัญติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และยังเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของสยามอีกด้วย