หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
หน้ารวม Pic Post Pic Post ของฉัน สุดยอด Pic Post สุดยอดนักโพสท์คลังรูปค้นหา Pic PostPost รูป
ดูรายการโปรด เพิ่มเป็นรายการโปรด

THAILAND 🇹🇭 | Khon masked dance drama in Ayutthaya Era. โขนสมมุติอยุธยา (ตอนสำมนักขาหาคู่)

โพสท์โดย อ้ายเติ่ง

โขนสมมุติอยุธยา (ตอนสำมนักขาหาคู่)
©️Credit: BIGGYPHOTO

Khon masked dance drama in Thailand, Inscribed in 2018 on the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity. The masked dance drama in Thailand is a performing art that combines musical, vocal, literary, dance, ritual, and handicraft elements. With a history of over 400 years, it depicts the glory of Rama and the incarnation of the god Vishnu, who brings order and justice to the world

 

สมมติว่า...โขนสยามมี Time Machine
บทความโดย: ธรรมจักร พรหมพ้วย
.....................................


วินาทีที่ลูแบร์ ทูตชาวฝรั่งเศส (Monsieuer Simon de la Lubère) ได้เห็นการแสดงโขนของราชอาณาจักรสยาม ในช่วงที่เขาพำนักอยู่ในกรุงสยามระหว่างวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๒๓๐ - ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ตรงกับปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เขาได้บันทึกไว้ในหนังสือ Du Royaume de Siam ไว้ว่า


"...ชาวสยามมีมหรสพประเภทเล่นในโรงอยู่ ๓ อย่าง อย่างที่ชาวสยามเรียกว่า โขน (Cône) นั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยานและวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง?) หรือไม่ก็เป็นหน้าปิศาจ (ยักษ์?)...

ผู้แสดงเหล่านี้ไม่มีเครื่องแต่งตัวประหลาดอะไร นอกจากผู้ที่เล่นระบำหรือเล่นโขนเท่านั้นที่สวมชฎาทำด้วยกระดาษทองน้ำตะโก ทรงสูงปลายแหลมเกือบเหมือนลอมพอกขุนนาง แต่ครอบลงมาข้างล่างจนปรกปลายหู และประดับอัญมณีเก๊ ๆ กับตุ้มหูทำด้วยไม้ทาทองไว้ด้วย...โขนกับระบำนั้นมักหาไปแสดงในงานปลงศพ ลางทีก็หาไปเล่นในงานอื่น ๆ บ้าง และมีทีท่าว่าการมหรสพประเภทนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการพระศาสนาแต่อย่างใด ด้วยเป็นสิ่งต้องห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ดู..." (สันต์ ท. โกมลบุตร, ๒๕๕๗)


ภาพที่ลูแบร์บรรยายนี้ไม่ต่างจากค่ำคืนของวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่กลุ่มคิดบวกสิปป์ ได้นำเสนอการแสดง "โขนสมมติอยุธยา" ขึ้น ณ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี ในแสงรำไรของเครื่องตามประทีปที่ถูกประจงวางด้วยเหล่าสตรี "นางบุญชม" ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมพระอุโบสถศิลปะอยุธยา ยิ่งชวนให้ภาพความทรงจำจากบันทึกที่เคยเลือนรางนี้ กลับมาแจ่มชัดขึ้นอีกครั้ง


ความตั้งใจของผู้สร้างปรารถนาที่จะให้ลักษณะการเคลื่อนไหวแบบนาฏกรรมอยุธยาได้หวนกลับคืนตาม "ความเป็นไปได้" ที่ถูก "สมมติ" ขึ้น หากแต่ความสมจริงของภาพการแสดงชวนให้น่าเชื่อถือนักเพราะมาจากการค้นคว้า ทดลองทำ โดยอาศัยแนวคิดและความเข้าใจบนหลักการของศิลปะไทยด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของจิตรกรรมมาสู่งานนาฏกรรม และดำเนินการสร้างอย่างเป็นระบบระเบียบทั้งการวิจัยและการปฏิบัติการ (Workshop) แม้ว่าผู้สร้างจะออกตัวว่าผลงานนี้สร้างจาก "สมมติฐาน" มิใช่ "หลักฐาน" แต่ทว่าภาพที่ปรากฏสะท้อนการเอาใจใส่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยอย่างจริงจัง


การให้ความสำคัญการเคลื่อนไหว ดูจะเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดของคิดบวกสิปป์ การรำที่มิได้มุ่งเน้นเพียงการคัดลอกท่านิ่งจากจิตรกรรมในตำรารำต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือสมุดข่อยสมัยอยุธยา แต่ให้ความสำคัญกับวิธีการจากท่านิ่งหนึ่งไปสู่อีกท่านิ่งหนึ่งด้วยสิ่งที่โบราณเรียกว่า "ที" เพราะไม่อาจมีใครฟันธงได้ว่าการรำในสมัยอยุธยานั้นจะมีรูปลักษณ์ประมาณใด ต่างล้วน "อนุมาน" เอาจากหลักฐานที่มีอายุใกล้เคียงซึ่งโดยมากก็เป็นศิลปะสองมิติ ไม่เห็นความเชื่อมโยงที่เป็นความเคลื่อนไหว ดังนั้นประเด็นของการทดลอง "สมมติ" ในครั้งนี้ก็การลองเล่นกับกล้ามเนื้อและเหลี่ยมวงที่ใช้ในการรำ ตามที่สันนิษฐานว่า "โนรา" ที่เห็นในปัจจุบันอาจยังพอมี "เค้า" ของวิธีรำโขนและละครในสมัยอยุธยา เหลี่ยมและวงที่เป็นมุมหักศอก การควบคุมลายเส้นของร่างกายด้วยการกำหนดจุดการรับน้ำหนักแบบใหม่ดูเป็นแนวทางที่สร้างความเป็นไปได้ให้น่าเชื่อถือขึ้นมา


ทั้งนี้ผู้ออกแบบท่า (Choreographer) ได้เปิดโอกาสการทำงานร่วมกันของนักแสดงด้วยเทคนิค "การตีความ" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในท่ารำตัวพระและตัวนางนั้นมีการสร้างขึ้นใหม่โดยอ้างอิงจากลายเส้นภาพจิตรกรรม ซึ่งแม้ว่าจะมีความใกล้เคียงมากแต่รอยต่อของการเชื่อมท่าอาจยังไม่สนิทสมบูรณ์ซึ่งก็ยังสามารถพัฒนาได้ต่อไป ในขณะที่การตีความการใช้ท่ารำแบบอยุธยาของบท "นางสำมะนักขา" ยักษิณีที่แสดงโดยศิลปินชั้นนำอย่างอนุชา สุมามาลย์ กลับดูเป็นธรรมชาติและลงตัวกว่า โดยเฉพาะในด้านสรีระที่อวบพอดีสำหรับบทนางยักษ์แต่ยังแสดงท่ารำที่ใช้ "เกลียวข้าง" เมื่อออกกราวได้ชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่า "ตะกอนของความแท้" ของท่ารำยักษ์และลิงในโขน ณ ปัจจุบัน ยังคงเสถียรภาพแห่งความเก่าแก่ไว้ได้มากกว่าท่ารำของตัวพระและนางที่กลายรูปจนเดาเค้าของเดิมได้ยากกว่า


ในส่วนอลังการแห่งการแสดงที่มาจากการจัดวางแสงไฟ การใช้พื้นที่และการควบคุมบรรยากาศ ล้วนเก็บรายละเอียดของกลิ่นอายการชมมหรสพแบบโบราณได้ดี ควันไฟจากการสุมไฟไล่ยุงได้ทั้งเอฟเฟคของแสงและกลิ่นใบไม้ไหม้ภายใต้อากาศที่เย็นกำลังดีถือเป็นบรรยากาศที่น่าทรงจำในอีกค่ำคืนหนึ่ง


สิ่งที่สะดุดตาผู้ชมทุกคนที่สุดเห็นจะเป็นเครื่องโขนที่มีสมติฐานมาจากจิตรกรรมศิลปะอยุธยา โดยผู้เชี่ยวชาญในการรื้อสร้างเครื่องแต่งกายไทยโบราณอย่างอาจารย์พีรมณฑ์ ชมธวัชได้นำเสนอความเป็นไปได้ให้เป็นจริง ภาพจิตรกรรมเทพนมในท่ายืนที่เป็นเอกอุในพระอุโบสถวัดปราสาทนี้ก็ได้กลายมาเป็นเครื่องแต่งกายที่แต่งได้จริงด้วยการ "นุ่ง" และ "ห่ม" ตามวิถีชีวิตชาวสยามแต่ดั้งเดิม ประกอบกับถนิมพิมพาภรณ์ที่อนุมานจากจิตรกรรมและมีข้อกังขาเสมอว่าเมื่อกลายมาเป็น "ของจริง" แล้วจะสะดวกแก่การเคลื่อนไหวทางนาฏกรรมได้ฉันใด แต่บทพิสูจน์นี้ก็ปรากฏออกมาเป็นเครื่องประดับน้อยชิ้นที่ไม่ขวางท่ารำ หรือการนุ่งโจงกระเบนมีชายสะบัดลอดใต้หว่างขาใต้สำเร็จและไม่ดูรุงรังเมื่อตัวละครต้องออกท่า หรือการใช้แพรย้อมเป็นผ้าสะพักสองบ่าของตัวนางผู้ชายก็ดูมีความเป็นไปได้ตามภาพจิตรกรรมในสมุดข่อยอยุธยาและยังส่งผลมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๓ ที่ภาพตัวนางละครในจิตรกรรมวัดทองธรรมชาติก็ยังห่มเช่นนี้ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการไม่สวมเสื้อนั้นเป็นปกติวิสัยของชาวสยามตามสภาพอากาศที่อบอ้าว จะปิดบังก็เพียงแต่ยอดถันของเหล่าผู้ดีมีแพรห่ม กันอุจาดจากสายตาอื่น

และเมื่อกลายมาเป็นแพรห่มนักแสดงชายของโขนก็ยิ่งดูเข้ากันเกิดความพริ้วไหวเมื่อหมุนตัวและทำให้เห็นวิธีการใช้ "เกลียวหน้า" คือกล้ามเนื้อส่วนท้องของท่ารำตัวนางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และที่สำคัญอาจารย์พีรมณฑ์ยังบรรจงย้อมสีแพรให้มีโทนเข้ากับผ้าลายอย่างที่เป็นผ้านุ่งอีกด้วย


นอกจากนี้ในกระบวนการสร้างงานได้ยังสร้าง "หัวโขน" ขึ้นมาใหม่โดยข้อสมมติและจินตนาการของช่างเอกอย่างอาจารย์ขรรค์ชัย หอมจันทร์ รูปทรงและสัดส่วนของหน้าพระราม พระลักษมณ์ และหน้ายักษ์สำมะนักขา มีกลิ่นอายอย่างอยุธยางามได้ทรวดทรงรับกับลำคอและคางของผู้แสดงอย่างเหมาะเจาะ ซึ่งครูสมศักดิ์ ทัดติ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์โขน (ยักษ์) ถึงกับออกปากชื่นชมในความพอดีของการทำหัวโขนชุดนี้ อีกส่วนหนึ่งของการ "สมมติ" คือการทดลองสร้างหัวโขนตัวนาง ที่แทบไม่เคยปรากฏหลักฐานมาก่อนว่ามีหรือหากมีแล้วรูปลักษณะจะเป็นเช่นไร ทั้งนี้ผู้สร้างอนุมานว่าการแสดงโขนในสมัยอยุธยาน่าจะสวมหัวโขนหรือหน้าโขนทุกบทบาทในเรื่องรามเกียรติ์ ทำให้การสร้างหัวโขนนางสีดาและนางสำมะนักขาแปลงเกิดมีขึ้นในเวทีนี้ โดยอาศัยภาพลายเส้นจิตรกรรมไทยประเพณีตัวนางมาเป็นแนวคิด สีดามีผิวหน้านวลลดทอนการเขียนลายเส้นลง สำมะนักขาแปลงสวมกระบังหน้า

ทว่า เมื่อชมบทบาทของตัวนางที่ใช้ผู้ชายสวมหัวโขนตัวนางแสดง กลับเกิดความรู้สึกว่าไม่เข้มขลังตามบทบาทหรือสะท้อนอารมณ์ทะลุหน้ากากได้เหมือนหัวโขนพระและยักษ์ ทั้งที่กระบวนท่ารำนางก็ชัดเจนตามบทบาทและนักรำก็ถ่ายทอดผ่านทางการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดี แต่หน้าโขนตัวนางกลับสะท้อนอารมณ์ของท่ารำได้น้อยกว่า ชวนให้คิดว่านี่อาจเป็นเหตุให้ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้แสดงโขนแม้เป็นผู้ชายจึงสวมเพียงศิราภรณ์แล้วผัดหน้าเพื่อใช้แสดงอารมณ์ผ่านแววตาและสีหน้าที่ทำได้ดีมากกว่าสวมหน้าโขน


ภายหลังการแสดงจบลง ได้มีการพูดคุยบอกเล่าแนวคิด รวมถึงคำนิยมจากศิลปินแห่งชาติ ครูผู้เชี่ยวชาญทางด้านโขนละครและศิลปะการแสดง ซึ่งล้วนชื่นชมในความตั้งใจที่ผู้สร้างงานสามารถเสกสรรค์ภาพอดีตให้ปรากฏอยู่ตรงหน้าตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นศิลปะที่แท้ชิ้นหนึ่งที่นักนาฏกรรมไทยพึงศึกษาและใส่ใจทั้งในภาพผลงาน กระบวนการสร้างและผลลัพธ์ที่จะได้แก่ผู้ชม ชวนให้นึกถึงคำพูดหนึ่งที่ได้เคยบอกว่า "ศิลปะมีไวยากรณ์" หากผิดไวยากรณ์ แม้อ่านได้ก็รู้สึกแปลก ๆ การที่คนรุ่นปัจจุบันอาจดูแล้วรู้สึกขัดตา เพราะไม่เข้าใจไวยากรณ์ของการรำและศิลปะไทยแท้ ๆ หรือการใช้ค่ามาตรฐานของปัจจุบันไปตัดสินความเป็นไปได้ของโลกอดีต ระยะห่างระหว่างผู้ที่พยายามจะรื้อฟื้นภาพอดีตด้วยการ Back to the past ดูยิ่งเริ่มห่างเหินกับผู้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการ Go to the future จนข้อคำถามหนึ่งหลุดออกมาจากปากผู้ชมภายหลังการแสดงจบว่าต้องการคำอธิบายแนวคิดทั้งหมดของการแสดง แสดงให้เห็นว่าตลอดเวลาที่เขาผู้นั้นรับชมอยู่ไม่อาจเข้าถึงไวยากรณ์ของศิลปะไทยที่ซับซ้อนเกินกว่าเด็กยุคใหม่จะเข้าใจได้ในทันที

ความพยายามที่จะต้องโยงระยะห่างของสองยุคให้เข้าหากันได้ด้วยการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะไทยควรเป็นไปอย่างเข้มแข็ง การเป็นที่ยอมรับได้ทั้งในแวดวงนาฏกรรมและเอื้อประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ที่จะได้ทดลอง ค้นคว้ากันต่อแล้วสร้างเป็นผลงานขึ้นจริง แม้ว่าจะเป็นเพียงการ "สมมติ" ดังที่ "โขนสมมติอยุธยา" ได้ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคนแล้ว


ด้วยความเปรมใจใน #ศิลปะบำรุงธรรม
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓


รายการอ้างอิง
สันต์ ท. โกมลบุตร, แปลจาก Lubère, Du Royaume de Siam. พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, ๒๕๕๗), หน้า ๑๔๗-๑๔๘.

Credit: https://www.facebook.com/media/set/?vanity=Biggyphoto&set=a.1828469010642604
แชร์บน Facebook แชร์
Tags ที่เกี่ยวข้อง : Ayutthaya, โขนรามเกียรติ์, Khon, Mask, Thai, นาฏศิลป์ไทย, โขน, UNESCO, dance, performance, national, traditional, antique, weaving, clothes, Thailand
มีผู้เข้าชมแล้ว 10,062 ครั้ง
โพสท์โดย: อ้ายเติ่ง , 4Y
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ "VOTE" และ "SHARE"
THAILAND 🇹🇭 | Khon masked dance drama in Ayutthaya Era. โขนสมมุติอยุธยา (ตอนสำมนักขาหาคู่)
 
หากคุณเป็นเจ้าของนิตยสาร/โมเดลลิ่ง เอเจนซี่ ต้องการโปรโมท สามารถส่ง e-mail แจ้งทีมงานให้ตั้งค่า username ของคุณเป็น Official User ได้ที่ info@postjung.com โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม

Pic Post อื่นๆ ของ อ้ายเติ่ง

"นางไห-หมากกั๊บแก้บ" Isan traditional dance | THAILAND 🇹🇭 THAILAND 🇹🇭 | Thai Apsara headdress, Thai Apsara Crown THAILAND 🇹🇭 | Thai Apsara - Thai Apsorn, นางอัปสร(อัปสรา) ณ ปราสาทศีขรภูมิ THAILAND 🇹🇭 | The Sbai in Thailand, THAI DRESS, ชุดไทยดู Pic Post ทั้งหมดของ อ้ายเติ่ง