🇹🇭Loy Krathong Thailand culture:ลอยกระทงLoy Krathong history
โพสท์โดยลอยกระทงสมัยสุโขทัยที่เป็นภาพลอยในน้ำชัดมากๆ มีเทียนประทีปด้านบนสุด
หลักฐานในประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่มีโบราณวัตถุ แต่มีหลักฐานจากบันทึกอีกมาก ถึงแม้ชื่ออาจจะไม่เหมือนกันตามสมัย แต่พิธี/คติความเชื่อก็มีความคล้ายกันมาก
- เอกสารของลาลูแบร์ ที่บันทึกพิธีชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอาไว้หลายตอน สำหรับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำ และมีน้ำท่วมนานหลายเดือน ก็เป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น “ประเพณีหลวง” ของราชอาณาจักร
- เอกสารลาลูแบร์ กล่าวว่า “ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง”
- หลักฐานการตราเป็นกฎมณเฑียรบาลว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปประกอบพิธีกรรมทางน้ำ เพื่อความมั่นคงและมั่นคั่งทางกสิกรรมของราษฎรและยังมีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีเอกสารบันทึกอย่างเป็นทางการอยู่ในตำราพระราชพิธีกับวรรณคดีโบราณ เช่น โคลงทวาทศมาสที่มีการกล่าวถึงประเพณี “ไล่ชล” หรือไล่น้ำเพื่อวิงวอนให้น้ำลดเร็วๆ (ช่วงน้ำหลาก)
- ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัย ก็ไม่มีปรากฏชื่อ “ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ “เผาเทียน เล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่า การทำบุญไหว้พระ (แต่พิธีจริงๆ ในวันนั้นเราไม่รู้รายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง)
- ส่วนเอกสารและวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยแรกๆ ก็มีชื่อ ชักโคม ลอยโคม แซวนโคม และ "ลดชุดลอยโคมลงน้ำ" ในพิธีพราหมณ์ของราชสำนักเท่านั้น และแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีชื่อนี้ จนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 ซึ่งก็หมายความว่า คำว่า “ลอยกระทง” เพิ่งปรากฏในต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง (คติอาจจะคล้ายกัน แต่ชื่อและรูปแบบอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามสมัย)
- หลักฐานว่าสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีพระราชพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคม” ดังระบุไว้ในนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้งว่า “เดือนสิบสองถ่องแถวโคม แสงสว่างโพยมโสมนัสสา เรืองรุ่งกรุงอยุธยา วันทาแล้วแก้วไปเห็น”
**และหลักฐานสำคัญ 👉👉 ในจดหมายเหตุราชทูตลังกาที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าบรมโกศก็ได้ระบุว่าในพระราชพิธีดังกล่าวมีการ "ปล่อยโคมกระดาษทำเป็นรูปดอกบัว มีเทียนจุดอยู่ภายในขณะปล่อยลงน้ำด้วย" (ซึ่งคล้ายคลึงกับพิธีลอยกระทงในปัจุจุบันมาก / คห.ส่วนตัว )
Also, a written record by a Lanka (ancient name for present day Sri Lanka) envoy during the reign of King Boromkot stated that paper lanterns made in a shape of lotus flowers containing lighted candles were released down the river in a royal ceremony.
อ้างอิง : ชื่อหนังสือ : ลอยกระทง, พิมพ์ครั้งที่ ๑, ตุลาคม ๒๕๕๒
ผู้จัดพิมพ์ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม