หมวกกาบ, หม่อมกาบ หรือ กระโจมหัว | THAILAND 🇹🇭
โพสท์โดย อ้ายเติ่ง"หมวกกาบคำ - กระโจมคำ"
หมวกกาบ, หม่อมกาบ หรือ กระโจมหัว ในพิธีบวชนาค จังหวัดร้อยเอ็ด...
พบในวัฒนธรรมอีสานและสปป.ลาว โดยที่ภาคอีสาน มักใช้ในหลาย ๆ กิจกรรม เช่น
- การสวมหมวกกาบในการเซิ้งบั้งไฟ ในแถบจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์
- การสวมหมวกกาบในพิธีเถราภิเษก(ฮดสรง)ของพระสงฆ์ ทั้งในภาคอีสาน และ สปป.ลาว
- หรือการสวมหมวกกาบ ในพิธีบวชนาค โดยยังพบเห็นมากที่สุดในจังหวัดอุดรธานี, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม โดยมักจะมีผ้าแพรมนลายขิดคลุมหัวนาคก่อนสวมหมวกกาบอีกชั้น
🏆ความหมายและที่มาของการสวมหมวกกาบในพิธีอุปสมบทนี้ เป็นวัฒนธรรมร่วมในชาติพันธุ์ไท-ไต รวมถึงชาติพันธุ์ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงที่นับถือพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการพิธีบวชนาครูปแบบพื้นบ้านต่างๆที่พบได้ในไทย เช่น ปอยส่างลอง ของชาวไทใหญ่, บวชนาคหลังช้างของชาวไทพวน สุโขทัย, บวชนาคของชาวเขมรถิ่นไทย สุรินทร์, รวมไปถึงการบวชนาคแบบภาคกลาง ที่สวมลอมพอกนาคอย่างวิจิตร.
ด้วยเหตุที่นาคนั้นจะแต่งกายคล้ายกับกษัตริย์โบราณ หรือเทวดา มีการสวมชฎาแบบต่างๆที่ทำมาจากกระดาษ, ผ้าปักดิ้น, หรือกระทั่งโลหะอันมีค่าตามแต่รูปแบบและค่านิยมท้องถิ่น
🔸ไม่ต่างกับชาวอีสาน ที่บางพื้นที่ก็ยังนิยมการสวมหมวกกาบให้นาคตามคตินิยมที่ว่ามาดังกล่าว
"หมวกกาบ" จึงเป็น สัญลักษณ์แทนเครื่องสวมศีรษะหรือ "ศิราภรณ์" เปรียบดั่งมงกุฎหรือชฎาให้กับนาค ก่อนที่จะละทิ้งทั้งหมดนั้นเพื่อไปใช้ชีวิตแบบสมณะตามอย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสละทุกสิ่งเพื่อธำรงธรรมะต่อไป...
🙏หมวกกาบในงานอุปสมบทของหมอลำบู๊ท จักรพันธ์ ลำเพลิน ณ บ้านอ้น อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด มีต้นแบบมาจากหมวกกาบ รูปทรงต้นแบบจากบ้านขวาว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
มีเอกลักษณ์ของกาบ หรือกลีบหมวกรวม ๙ ยอด มีสัดส่วนลงตัวสวยงาม
🔸หมวกกาบคำใบนี้ พัฒนารูปแบบด้วยงานปักแบบราชสำนักไทย ประกอบด้วยลายไทย ปักด้วยแล่งนมสาว, เลื่อมโลหะ, ปีกแมลงทับ, และไหมทอง บนพื้นผ้าไหมสีแดง กุ๊นขอบด้วยผ้าสีกรมท่า ซับในด้วยผ้าแข็ง ๒ ชั้น และประดับด้วยพู่ไหมสีแดง 📌ใช้เวลาปักรวมเวลา ๒ เดือน
สวมร่วมกับ "ชุดครุยนาค" แบบไทยภาคกลาง ปักไหมทอง แล่งทอง และปีกแมลงทับ
เข้าชุดกับคลุมศีรษะสีขาว เป็นผ้าไหมสีขาว ปักไหมทองคลุมศีรษะแทนผ้าแพรมน
เป็นรูปแบบการแต่งกายที่ผสมผสานระหว่างคตินิยมแบบอีสานและไทยภาคกลาง เพื่อให้นาคนั้นได้งดงามสง่า และสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาและต่อยอดกันต่อไป....