สี่เผ่าไทยศรีสะเกษ #Thailand
โพสท์โดย อ้ายเติ่งผลงานชุด “ความหลากหลาย แห่งอัตลักษณ์การแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดศรีสะเกษ”
ศรีสะเกษประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สี่กลุ่มชาติพันธุ์คือ ลาว เขมร ส่วย(กูย) และเยอ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในศรีสะเกษต่างมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม เอกลักษณ์อัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของตน ศรีสะเกษนั้นเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของศรีสะเกษคือเสน่ห์ คือความงาม คือมรดกอันทรงคุณค่า ที่บรรพชนคนศรีสะเกษได้รังสรรค์ไว้ให้สะท้อนผ่านภาษา วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี และการแต่งกาย
กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดศรีสะเกษมีอัตลักษณ์การแต่งกายที่โดดเด่น แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ละชุมชนต่างมีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาการทอผ้า ที่งดงาม มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เกิดเป็นความหลากหลายที่สะท้อนออกมาผ่านการแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งเสื้อไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ การแส่วเสื้อ การทอผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ โสร่ง และผ้าชนิดต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน แม้แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันยังมีอัตลักษณ์การแต่งกายที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่และชุมชน ทำให้เกิดเป็นความหลากหลายของอัตลักษณ์การแต่งกายขึ้น ความหลากหลายนี้เองเป็นเสน่ห์ให้วัฒนธรรมของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง กลุ่มรักษ์ศิลป์ถิ่นเมืองศรีจึงได้จัดทำ ภาพถ่ายชุด “ความหลากหลาย แห่งอัตลักษณ์การแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดศรีสะเกษ” ขึ้น เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ความหลากหลายของอัตลักษณ์แต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสี่ในจังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นที่รู้จัก โดยมีภาพและข้อมูลประกอบ ดังต่อ ไปนี้
1.กลุ่มชาติพันธุ์ลาว
ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั้น ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าซิ่นชนิดต่างๆ ซึ่งแบ่งได้หลายประเภท อาทิ ซิ่นหมี่ลวด ซิ่นหมี่คั่น ซิ่นเข็นคั่น ซิ่นดำหม้อ และซิ่นทิวหรือซิ่นก่วย ซิ่นของคนลาวนั้นมักนิยมต่อหัวต่อตีน ด้วยตีนซิ่นชนิดต่างๆทั้งตีนโยง ตีนแหนะ และตีนช่อหรือตีนขิด ส่วนเสื้อสตรีนิยมสะอิ้งหรือสวมเสื้อไหมเหยียบย้อมมะเกลือคอกลม และเบี่ยงแพรชนิดต่างๆ อันได้แก่ แพรขิด แพรปลาไหล แพรดำ แพรตลาดเป็นต้น ผู้ชายเดิมนิยมนุ่งโจงกระเบนหรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่าเหน็บกระเตี่ยว หากเป็นข้าราชการจะสวมเสื้อขาวคอตั้งอย่างไทยบางกอก ชาวบ้านทั่วไปมักสวมเสื้อฝ้ายย้อมหม้อนิล หรือเสื้อไหมเหยียบคอกลมกับโจงกระเบน โสร่ง
สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั้นมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือด้านการทอแพรขิด คนลาวในจังหวัดศรีสะเกษนั้นมีรูปแบบแพรขิดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่น จนเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น ท้องถิ่นที่มีการทอแพรขิด และมีแพรขิดที่เป็นเอกลักษณ์ได้แก่ แถบอำเภอกันทรารมย์ โนนคูณ วังหิน กันทรลักษ์ และอำเภออื่นๆ
2.ชาติพันธุ์เขมร(ขแมร์)
กลุ่มชาติพันธุ์เขมร มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน คนขแมร์มีภูมิปัญญาการทอผ้าไหมที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้หญิงชาวเขมรมีความชำนาญในการมัดและทอผ้ามัดหมี่ที่เรียกว่า “โฮล” เพื่อทอเป็น “สัมป็วตโฮล” และ “สัมป็วตเวง” ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงชาวเขมรนั้น นิยมนุ่งซิ่นที่เรียกว่า “สัมป็วต” ชนิดต่างๆ อาทิ สัมป็วตโฮล สัมป็วตจำนอง สัมป็วตจำเรียกปะเดา สัมป็วตกะเนียว สมอ สาคู เป็นต้น สำหรับการเรียกชื่อนั้นเขมรในแถบจังหวัดศรีสะเกษนั้น มีการเรียกชื่อผ้าทอที่ต่างกันกับเขมรสุรินทร์ ผู้หญิงนั้นนิยมเบี่ยงแพรสไบที่เรียกว่า “สไบเก็บ” และสวมเสื้อไหมเหยียบย้อมมะเกลือที่เรียกว่า “อาวเก็บ” ส่วนการแต่งกายสำหรับผู้ชายนั้น ผู้ชายเขมรเดิมนั้นนิยมแต่งกายเอาอย่างชาวสยามคือนุ่งโจงกระเบนอย่างชายชาวสยาม หากเป็นขุนนางมักสวมเสื้อคอตั้งสีขาวอย่างขุนนางสยาม หากเป็นชายชาวบ้านมักนุ่งเพียงโจงกระเบน หรือหากเป็นชุดสวมใส่อยู่บ้านนั้นนิยมนุ่งโสร่ง
ผ้าทอของชาวขแมร์ในเขตจังหวัดศรีสะเกษนั้น มีด้วยกันหลายชนิด ผ้าทอของกลุ่มชาวเขมรในจังหวัดศรีสะเกษนั้น ได้แก่ กำแซงโซด กำแซงจะดอ กำแซงเก็บ สัมป็วตโฮลปีปะเดิม สัมป็วตเวง อันลูนสมอ อันลูนสาคู สัมป็วตจำเรียกปะเดา โสร่ง และที่สำคัญที่กลุ่มชาวเขมรในจังหวัดศรีสะเกษยังคงรักษาไว้ได้คือ การต่อซิ่นด้วย กระบาลสัมป็วต(หัวซิ่น) ปะโบล(ตีนซิ่นลายมัดหมี่) และเสลิก(ตีนซิ่นขนาดเล็กทอยกมุก) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในจังหวัดศรีสะเกษ
3.กลุ่มชาติพันธุ์ส่วย(กูย)
ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยหรือกูย-กวย นั้น ได้รับอิทธิจากทั้งชาติพันธ์เขมรและลาว ผู้หญิงกูยนั้นนิยมนุ่งซิ่นที่เรียกว่า “อะโหลนระหวี” ระวี กะหวี่ หวี วี่ ซึ่งต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น คำว่า “ระหวี” มีความหมายว่าการนำไหมสองสีมาปั่นควบกัน ซึ่งตรงกับคำว่า “เข็น” ของลาว “อะโหลนระหวี” นี้นิยมต่อด้วยตีนซิ่นที่เรียกว่า “หยืงโยง” หรือ “หยืงบะบูร์” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ชาวกูยรับมาจากขแมร์ ส่วนเสื้อนั้นนิยมสวมเสื้อที่เรียกว่า “ฮับแก็บ” หรือ “ฮับตะแวง” ซึ่งหมายถึงเสื้อไหมเหยียบย้อมมะเกลือ หากมีการเย็บตะเข็บเป็นลวดลายด้วยไหมสีต่างจะเรียกว่า “ฮับแก็บแซว” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเสื้อชาวกูย สำหรับผู้ชายเดิมนิยมนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าไหมผืนยาวที่เรียกว่า “ฉิกระหวีซอยโปร๊ะ” แปลว่า ผ้าเข็นหางผู้ชาย คาดด้วย “ฉิกปาลาย” หรือ “ฉิกพงจีก” หรือ นุ่งผ้าโสร่งที่เรียกว่า “ฉิกจราย”
สำหรับผ้าทอของชาวกูยนั้น มีด้วยกันหลายชนิด อาทิ ฉิกซะปั๊ดหรือซัมปัตที่หมายถึงซิ่นมัดหมี่ เปลินที่หมายถึงหัวซิ่น หยืง(เลียว) ที่หมายถึงตีนซิ่นอย่างลาว ฉิกแก็บที่หมายถึงผ้าเหยียบ และฉิกกะแจที่หมายถึงผ้าขิด สำหรับ “ฉิกกะแจ” ของชาวกูยนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ชาวกูยได้รับมาจากลาว และได้พัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของตน อาทิเช่น ฉิกกะแจของคนกูยในแถบอำเภอน้ำเกลี้ยง
4.กลุ่มชาติพันธุ์เยอ(กวยเยอ)
ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ(กวยเยอ)นั้น แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆคือ กลุ่มเยอราษีไศล และกลุ่มเยอไพรบึง การแต่งกายของชาวเยอนั้นได้รับอิทธิจากทั้ง จากวัฒนธรรมเขมรและลาว เช่นเดียวกับกูย โดยแบ่งออกตามท้องถิ่นได้ดังนี้
เยอราษี เป็นกลุ่มชาวเยอขนาดใหญ่ อาศัยแถบอำเภอราษีไศล ศิลาลาด และอำเภอเมือง โดยเอกลักษณ์การแต่งกายของคนเยอกลุ่มนี้นั้น ผู้หญิงนิยมนุ่งซิ่นเข็นคั่นสีเขียวสดต่อตีนซิ่นอย่างลาว สวมเสื้อไหมเหยียบย้อมมะเกลือ เบี่ยงด้วยแพรขิด ผู้ชายแต่งกายคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
เยอไพรบึง เป็นกกลุ่มเยออีกกลุ่มที่มีอัตลักษณ์การแต่งกายที่โดดเด่น ซิ่นของกลุ่มชาวเยอที่ไพรบึงนิยมนุ่งซิ่นเข็นคั่นต่อด้วยปะโบลและเสลิกอย่างชาวขแมร์และกูย ชาวเยอกลุ่มไพรบึง มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือ การสวมเสื้อไหมเหยียบย้อมมะเกลือที่ประดับเงินก้อนหรือเงินบักค้อจากคอเสื้อจนสุดฉาบหน้าเสื้อ คนแก่นิยมเบี่ยงด้วยผ้าสไบเก็บย้อมมะเกลือสีดำ
...........................................................................
กชกร เวียงคำ เรียบเรียง
18 กันยายน 2561