THAILAND 🇹🇭 | ไทครั่ง- Tai Krung ethnic
โพสท์โดย อ้ายเติ่งไทครั่ง หรือ ลาวครั่ง คือ กลุ่มชนที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของลุ่มแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยบริเวณจังหวัดอุทัยธานี,ชัยนาท, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์, พิจิตร, กำแพงเพชร,นครปฐม สันนิษฐานว่าน่าจะอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แต่การอพยพเคลื่อนย้ายของชาวไทครั่งครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกุรงรัตนโกสินทร์
กลุ่มวัฒนธรรมไทครั่งจะเรียกตนเองว่า ลาวครั่ง หรือ ลาวเวียง หรือ ลาวกา ซึ่ง ลาวครั่ง ลาวเวียง หรือ ลาวกา ในอดีตน่าจะมีบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกันซึ่งสังเกตได้จากวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรี และสิ่งทอในชีวิตประจำวัน คำว่าลาวครั่ง มีผู้สันนิษฐานเป็น ๒ อย่าง คือ
๑. เป็นการเรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาภูคัง ประเทศลาว
๒. เป็นการเรียกกลุ่มชนที่เลี้ยงครั่ง เพื่อใช้สำหรับย้อมผ้า
คำว่า ลาวเวียง หมายถึง กลุ่มชนที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว
คำว่า ลาวกา หมายถึง กลุ่มลาวเวียงที่พูดเสียงดังเหมือนกา ลาวกาเป็นคำพูดที่ดูถูกอีกฝ่ายหนึ่ง โดยกลุ่มชนไม่ได้ยอมรับ
ผ้าทอไทครั่ง คือ ผลผลิตที่เกิดจากการรังสรรค์ของช่างทอผ้า ที่ได้อาศัยองค์ความรู้และ ภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน โดยแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน ผ้าซิ่นของชาวไทครั่งมักต่อตีนซิ่นด้วยฝ้ายหรือไหม ตีนซิ่นทอเป็นพื้นสีแดงใช้เทคนิคการจกด้วยฝ้ายหรือไหม สีเหลือง ส้ม น้ำเงิน ขาว เขียว ให้เกิดลวดลายโดยทิ้งพื้นสีแดงไว้ด้านล่างของตีนซิ่น การทอตัวซิ่นนิยมทอด้วยเทคนิคมัดหมี่เส้นพุ่ง ด้วยการย้อมสีเดียวและใช้วิธีการแต้มสีอื่นๆเพิ่มเติม หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “แจะ” เป็นการให้ลวดลายหมี่มีสีสันเพิ่มขึ้น ผ้าซิ่นตีนจกที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวไทครั่ง มีอยู่ด้วยกัน ๔ แบบ คือ
๑) ซิ่นก่าน ใช้เทคนิคการจกหรือขิดตัวซิ่นทั้งผืน ลวดลายที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ลายดอกแก้ว ลายมะเขือ ผ่าโผ่ง
๒) ซิ่นหมี่ลวด เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอต่อเนื่องโดยไม่มีอะไรมาคั่น ทำให้เกิดลวดลายอย่างต่อเนื่องลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายหมี่สำเภาและลายหมี่ขอใหญ่
๓) ซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่สลับกับการจกหรือขิด ทำให้เกิดลวดลายขนานกับลำตัวลวดลายของมัดหมี่จะเป็นลาย หงส์ หรือนาค เป็นส่วนใหญ่
๔) ซิ่นหมี่น้อย เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่เป็นลวดลายแถบเล็ก ๆ สลับด้วยฝ้าย หรือไหมพื้นสีต่าง ๆ
นอกจากซิ่นตีนจกแล้วยังมีสิ่งทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทครั่งซึ่งยังคงสืบทอดกันอยู่ เช่น ผ้าปกหัวนาค ลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทอด้วยฝ้ายสีขาว ใช้เทคนิคการทอจกและขิด มีชายครุย ๒ ด้าน ขอบอีก ๒ ด้านเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ในประเพณีบวชนาค เมื่อนาคโกนศีรษะแล้วก็จะใช้ผ้าปกหัวนาคคลุมไว้บนศีรษะโดยให้ชายครุยปล่อยทิ้งลงมาข้างหู ผ้าตุง มีลักษณะเด่น คือ จะทอเป็นผืนผ้าฝ้ายสีขาว ใช้เทคนิคการขิดและจก โดยลวดลายที่ปรากฏบนผืนตุงจะเป็นลายสัตว์ที่ช่างทอได้พบเห็น เช่น ช้าง ม้า นกยูง ไก่ งู เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีลวดลายสัตว์ในหิมพานต์ ได้แก่ นาคและลวดลายคนในอิริยาบถท่าทางต่างๆ
แหล่งทอผ้าที่สำคัญอยู่ที่ บ้านเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท บ้านกุดจอก อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท บ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี บ้านทัพคล้าย บ้านทัพหลวง บ้านนาตาโพ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี บ้านป่าสะแก บ้านบ่อกรุ บ้านหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น
ผ้าทอไทครั่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีคุณค่าทางสุนทรียะ มีบริบททางวัฒนธรรมที่แฝงองค์ความรู้และภูมิปัญญามีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในผ้าทอไทครั่งคงมิใช่เป็นแต่เพียงมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทครั่งเท่านั้น แต่ยังคงเป็นสมบัติและมรดกของชาติ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่ทุกคนควรหวงแหน