อิทธิพลทางวัฒนธรรมไทยที่มีต่อกัมพูชา
โพสท์โดย อ้ายเติ่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมไทยที่มีต่อกัมพูชา จนทำให้ถูกสะกดจิตหมู่ว่า “ไทยลอกกัมพูชา”
ที่ผ่านมาจะเห็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ชอบดรามาเรื่องไม่เป็นเรื่องระหว่างประเทศไทย และส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการแสดง (โขน) ฯลฯ จนมาถึงเรื่องล่าสุด “ดรามาดอกลำดวน” จากโปสเตอร์ภาพยนตร์ของ GDH เรื่อง “บุพเพสันนิวาส ๒” ปรากฏว่ามีชาวเน็ตกัมพูชารายหนึ่งเข้ามาแสดงความคิดเห็นประมาณว่า “...ขอขอบคุณสำหรับการส่งเสริมดอกไม้ประจำชาติของเรา (ชาติกัมพูชา) ให้โลกรู้ แต่ครั้งหน้าอย่าลืมให้เครดิตเจ้าของด้วย...” จากนั้นก็เกิดสงครามทางโซเชียลระหว่างไทยและกัมพูชา อย่างเดือด
ซึ่งจริง ๆ แล้ว “ดอกลำดวน” มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า “หอมนวล” (ภาคเหนือ) “ลำดวน” (ภาคอีสาน) เป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีดอกหอมชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียเขตร้อน (Tropical of Asia) ตั้งแต่อินเดียตะวันออกไปจนถึงฟิลิปปินส์ ไม่ได้มีอยู่ที่กัมพูชาประเทศเดียว และในประเทศไทย “ลำดวน” เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ดอกลำดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยเรียกว่าดอกหอมนวล, ดอกไม้ประจำโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ กรุงเทพมหานคร และเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ควบคู่ไปกับดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย
ซึ่งปรากฏการณ์ระหว่าง ๒ ประเทศนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดเป็นประจำ และคนที่ทำให้เกิดเรื่องแทบทุกเรื่องล้วนมาจากคนกัมพูชาเอง
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ที่จะเห็นได้มากและชัดเจนคือช่วงเลือกตั้งของประเทศกัมพูชา เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง ก็จะมีการปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่คนกัมพูชาให้เกลียดชังประเทศไทย กล่าวหาว่าไทยไปขโมยวัฒนธรรม พวกสยามเป็นพวกขี้ขโมย โขนเป็นของพวกเรา ฯลฯ เป็นที่น่าเศร้าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็จะมีคนคล้อยตามและอินเป็นส่วนใหญ่
วัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษา การกิน การอยู่ ฯลฯ ของไทยน่าจะเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในเขมร ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีประเพณีหนึ่ง คือ การชุบเลี้ยงดูองค์รัชทายาทเขมรเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ในฐานะลูกเจ้าเมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ เพื่อมิให้เขมรเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อสยาม (ไทย) เหตุการณ์และประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ รวมเวลาทั้งสิ้น ๗๓ ปี
การที่องค์รัชทายาทเขมร ได้เข้ามาบวชเรียนและเติบโตในราชสำนักไทยตั้งแต่วัยเยาว์ จึงได้รับเอาวัฒนธรรมและรสนิยมแบบไทยในราชสำนักไทย เอาไว้มาก เมื่อต้องกลับไปครองราชบัลลังก์เขมร
ในปี ๒๔๐๘ สมัยรัชกาลที่ ๔ ในกัมพูชาเกิดความขัดแย้งขึ้น สยามได้เรียกตัว “นักองค์ศรีวัตถา” และ “นักองค์ราชาวดี” เข้ากรุงเทพฯ สยามได้ตัดสินใจสนับสนุนให้ “นักองค์ราชาวดี” ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชา โดยมีขุนนางกัมพูชาในกรุงเทพช่วยกันประกอบพิธี พิธีราชาภิเษกของพระนโรดมที่กรุงเทพฯ ได้เป็นไปโดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงพนมเปญ โดยพฤตินัย จากนั้นพระองค์ได้ถูกเรียกตัวให้เข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นการอำลา รัชกาลที่ ๔ และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงยินดีในพระนโรดมและได้พระราชทานพระปรมาภิไธยแก่พระนโรดม ขณะนั้นกัมพูชาเป็นประเทศราชของสยาม เชื้อพระวงศ์ที่จะอภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ต้องมาจากการแต่งตั้งของรัตนโกสินทร์ ทางสยามมีสิทธิในการสถาปนากษัตริย์กัมพูชา
พระราชวังหลวงเขมร ในช่วงแรกที่สร้างขึ้นออกแบบโดยสถาปนิกชาวเขมร คือ นักออกญาเทพนิมิต (มัก) และก่อสร้างโดยฝรั่งเศสแล้วเสร็จใน ๒๔๐๙ สมเด็จพระนโรดม จึงทรงย้ายราชสำนักจากอุดงมีชัย มายังพระราชวังหลวงแห่งใหม่ที่พนมเปญ ในเวลาต่อมา ได้มีการก่อสร้างหรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพิ่มเติมในพระราชวังนี้ รวมถึงพระที่นั่งจันทรฉายา และพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย (ท้องพระโรง) องค์เดิม กำแพงพระราชวังถูกสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๖ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างในช่วงนี้ มีสถาปัตยกรรมแบบสยามเป็นหลัก เช่น ผังพระราชวัง (ที่มีวัดพระแก้ว) พระที่นั่งจันทรฉายา ที่มีต้นแบบมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท (พระบรมมหาราชวัง) และพลับพลาสูง (วังหน้า) ฯลฯ
ในนิราศนครวัดโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบรรยายว่า พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในราวต้นรัชกาลที่ ๕ ที่เมืองพนมเปญ โดยสมเด็จพระนโรดมได้เคยเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ จึงนิยมแบบแผนพระราชวังอย่างในกรุงเทพนำไปสร้างเท่าที่จะทำได้หมดโดยริมกำแพงหน้าวังมีปราสาทพลับพลาสูงอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เรียกว่า “พระที่นั่งจันทรฉายา”
กษัตริย์กัมพูชาทุกพระองค์ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ยกเว้นสมเด็จพระนางเจ้ามี) ล้วนเคยได้รับการศึกษาในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “...ในราชสำนักกรุงกัมพูชาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมนั้นใช้ภาษาไทยเป็นพื้น “เพราะเมื่อครั้งสมเด็จพระนโรดมตรัสแต่ภาษาไทย ถึงกล่าวกันว่าตรัสภาษาเขมรมิใคร่คล่อง”...”
นั่นเองจึงเป็นที่มาของความคล้ายคลึงวัฒนธรรมกัมพูชา (ในปัจจุบัน) ที่คล้ายกับวัฒนธรรมไทยเอามาก ๆ
ในเรื่องศิลปะการแสดงนั้น แม้แต่สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีต่างพระมารดาในกษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์รัชกาลก่อน พระองค์ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับทาง Khmer Dance Project คือโครงการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการแสดงของเขมรซึ่งมี New York Public Library ให้การสนับสนุน) ว่า “...ตั้งแต่ยุคนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดม และกษัตริย์สีสุวัตถิ์ อิทธิพลจากไทยมีสูงมาก เพราะเราขาดแคลนครู ครูจากไทยเดินทางมาถึงราชสำนักเขมร บางทีครูเขมรก็ไปที่ราชสำนักไทย นี่เป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างราชสำนักไทยและราชสำนักเขมร...” “มันคือการผสมผสานอย่างแท้จริง” สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวีกล่าว
พระองค์กล่าวว่า “...ทางฝ่ายกัมพูชาได้รับความรู้จากครูไทยแล้วก็นำไปประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของตัวเอง หลังจากนั้นระบำของราชสำนักเขมรกับราชสำนักไทยก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน...”
สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ยังบอกว่า “...ในสมัยกษัตริย์สีสุวัตถิ์ ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ ของไทย เครื่องแต่งกายของนางรำก็ยังเป็นแบบไทยอยู่ ก่อนที่ทางคณะละครของกัมพูชาจะดัดแปลงให้เป็นแบบของกัมพูชาเอง...” จึงไม่แปลกที่การแสดงเรื่องรามายณะดัดแปลงฉบับกัมพูชาจะมาคล้ายคลึงกับ “โขน” ของไทย และนี่ก็เป็นหลักฐานของการ “แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม” ของสองราชสำนักที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ
และยังมีเรื่อง “เลขไทย” อีก ซึ่งเลขไทยในยุคต้นได้รับอิทธิพลมาจาก “เขมรโบราณ” ซึ่งเขมรก็รับมาจาก “อักษรอินเดียใต้ (หรืออักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะ)” อีกทีหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “อักษรทวารวดี” ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย ในส่วนของอักษรไทยนั้น ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ กล่าวว่า ระบบอักษรไทยสุโขทัย ถูกพัฒนาจากอักษรขอมหวัด + อักษรมอญ ส่วน “เลขเขมรปัจจุบัน” ได้รับอิทธิพลมาจากเลขไทยในยุค “รัตนโกสินทร์ตอนต้น” ที่เวลานั้นเขมรเป็นประเทศราชของสยาม จึงทำให้ “เลขไทยปัจจุบัน” และ “เลขเขมรปัจจุบัน” เหมือนกันอย่างกับแกะ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการสูญหายไปของ “วัฒนธรรมเขมร” แบบดั้งเดิม ที่ผ่านมากัมพูชาถือ “วัฒนธรรมอินเดีย” เป็นวัฒนธรรมครูเหมือน “ไทย” และ “ลาว” แต่กัมพูชาก็ไม่ยอมรับวัฒนธรรมความเชื่อแบบเวียดนามที่มาจากจีน ดังนั้น กัมพูชาจะคุ้นเคยทางวัฒนธรรมกับ “ไทย” และ “ลาว” มากกว่า เพราะภูมิศาสตร์ของประเทศกัมพูชาล้อมไปด้วย “เผ่าไท” (กลุ่มตระกูลไท-กะได) กัมพูชาตอนนี้จึงอาจจะอยู่ในสภาวะ “การหลอมรวมหรือกลืนกลายทางวัฒนธรรม”
ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็กำลังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เช่น คนกัมพูชาเริ่มรู้ภาษาไทยมากขึ้น ภาษาเขมรเริ่มมีเสียงวรรณยุกต์ ศัพท์ไทยบางคำก็เริ่มจะแทรกซึมเข้าไปในภาษาเขมรมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการแต่งกายเริ่มคล้ายไทย รสนิยมการกินการใช้ อาหาร ฯลฯ เริ่มเหมือนไทย
ทาง “ประเทศไทย” นั้นรู้จักว่าอะไรเป็น “ศิลปะของสยาม” อะไรเป็น “ศิลปะของขอม ศิลปะของของเขมร” แต่ในเมื่อกัมพูชาไม่รู้จึงเลยแยกแยะไม่ได้ เมื่อแยกแยะไม่ได้จึงรับ “วัฒนธรรมไทย (สยาม)” เข้าไปเต็ม ๆ